3499 จำนวนผู้เข้าชม |
ประวัติ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ. ๙)
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นหนึ่งในพระมหาเถระผู้มุ่งมั่นที่จะเห็นพระพุทธศาสนามีความมั่นคงอยู่บนผืนแผ่นดินไทย และแผ่ไพศาลไปเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก เมื่อเกือบ ๗๐ ปีที่แล้ว เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ตั้งใจที่จะบวชเป็นสามเณรเพียง ๗ วัน แต่กลับดำรงตนอยู่ในสมณะเพศตลอดมาตราบเข้าสู่วัยชรา ได้สร้างคุณูปการให้แก่พระพุทธศาสนาอย่างมากมายมหาศาล เหมือนมีชีวิตเกิดมาเพื่อต่อลมหายใจให้กับพระพุทธศาสนาจริยาวัตรและปฏิปทาที่งดงาม ภายใต้ใบหน้าอ่อนโยน มีรอยยิ้มฉายอยู่บนหน้าตลอดเวลา บ่งบอกถึงพลังแห่งเมตตาธรรม เป็นภาพที่ติดตาและตรึงใจแก่ผู้พบเห็นอยู่ตลอด อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการฝึกฝนในพระกรรมฐานอย่างหนัก
เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เรียนพระกรรมฐาน ในเบื้องต้น จากหลวงพ่อพริ้ง ซึ่งเป็นพระวิปัสสนาจารย์องค์สำคัญของเกาะสมุย โดยหลวงพ่อพริ้งได้นำเจริญพระกรรมฐานบนหลุมฝังศพขณะมีอายุ ๑๒ ปี เท่านั้น ต่อมา ได้เรียนพระกรรมฐานจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) ซึ่งเป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า พระองค์ท่านมีความชำนาญด้านกสิณ และเจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังได้ให้ความสนใจวิธีการเจริญพระกรรมฐานตามแนวต่างๆ จนมีความชำนาญสามารถสวดพระปาฏิโมกข์ได้ในพรรษาแรกแห่งการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ และยังสามารถเรียนสำเร็จเปรียญธรรม ๙ ประโยค อันเป็นการศึกษาพระปริยัติธรรมชั้นสูงสุดของคณะสงฆ์ สำนึกที่มีต่อความรับผิดชอบพระพุทธศาสนาเช่นนี้ ก่อตัวขึ้นท่ามกลางการฝึกฝนอย่างหนักของเจ้าพระสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) ผู้เป็นพระอาจารย์ ผู้ได้เล็งเห็นอุปนิสัยแล้วว่า ศิษย์ผู้นี้ คือ ผู้ที่จะนำพาพระพุทธศาสนาผ่านห้วงแห่งความยากลำบากในอนาคต
จากวันที่สำเร็จการศึกษาเปรียญธรรม ๙ ประโยค เพราะความรักที่มีต่อพระพุทธศาสนาอย่างเปี่ยมล้น เมื่อก้าวขึ้นสู่การบริหารคณะสงฆ์ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะผู้ปกครอง แม้พระเถระผู้ใหญ่ในสมัยนั้น ต้องการให้เป็นเจ้าคณะผู้ปกครองในภาคกลาง แต่เจ้าประคุณสมเด็จฯ กลับเลือกที่จะไปเป็นผู้ปกครองทางภาคที่กันดารและเดินทางไปยากที่สุด คือ ภาคอีสาน เนื่องจากเจ้าประคุณสมเด็จฯได้เล็งเห็นว่า หากจะพัฒนาประเทศชาติและพระศาสนา จะต้องพัฒนาจากภาคที่มีประชากรมากที่สุดก่อน โดยเน้นที่การให้การศึกษา
จากวันนั้น เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในการที่จะพบปะผู้คน ทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจ เพื่องานพระศาสนาอย่างต่อเนื่อง ออกไปเยี่ยมพระสงฆ์ในทุกวัดที่อยู่ในการปกครอง ศึกษาทั้งประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์และสภาพการเป็นอยู่ของถิ่นนั้นๆ เพื่อแนะนำการจัดระบบการศึกษาภายหลังเมื่อลูกศิษย์รูปหนึ่งออกไปปฏิบัติศาสนกิจในจังหวัดที่ห่างไกล เกิดอาพาธไม่มีโรงพยาบาลรักษาจนถึงแก่มรณภาพลง กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการสร้างตึกสงฆ์อาพาธในจังหวัดชายแดนตามมาอย่างเงียบๆ ภายใต้ชื่อ “ตึกผู้มีพระคุณ” โดยไม่มีการเรี่ยไร ไม่มีการบอกบุญ และไม่ได้ประกาศให้ใครรับรู้ ทุนในการสร้างทั้งหมดได้มาจากการรวบรวมปัจจัยจากผู้มีจิตศรัทธาที่ทำบุญในโอกาสต่างๆ เมื่อครบจำนวนก็ลงมือสร้างตามแบบที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด จากวันนั้นเป็นต้นมา ตึกสงฆ์อาพาธภายใต้ชื่อ “ตึกผู้มีพระคุณ” จึงเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนตึกแล้วตึกเล่า
เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้นำพระพุทธศาสนาก้าวเข้าสู่โลกยุคใหม่ได้ริเริ่มวางรากฐานแนวคิดงานพระศาสนาเชิงรุกที่สำคัญในด้านต่างๆ เช่น ก่อตั้งโรงพิมพ์กรมการศาสนา จัดพิมพ์แถลงการณ์คณะสงฆ์ รวบรวมกิจการต่างๆ เกี่ยวกับการบริหารงานคณะสงฆ์ ตลอดทั้งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ กฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม ระเบียบ คำสั่งมหาเถรสมาคม เกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์และการพระศาสนาออกเป็นรายเดือนทุกวันที่ ๒๕ ของเดือน และหนังสือธรรมะอื่นๆ ริเริ่มให้มีศูนย์การคณะสงฆ์ประจำภาค ริเริ่มให้มีสำนักงานพระพุทธศาสนาประจำจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อรองรับงานคณะสงฆ์ ริเริ่มให้มีพุทธมณฑลประจำจังหวัด ริเริ่มให้จัดตั้งสำนักเรียนบาลีประจำจังหวัด ริเริ่มให้จัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด ริเริ่มให้ยกร่างหลักสูตรการเรียนการสอนภาคภาษาอังกฤษในมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ยกร่างหลักสูตรโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญ ริเริ่มจัดตั้งโรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ริเริ่มให้มหาวิทยาลัยสงฆ์เปิดหลักสูตรผู้บริหารสำหรับพระสังฆาธิการ เพื่อยกระดับการศึกษาของพระสังฆาธิการในสังฆมณฑล ริเริ่มจัดตั้งสถานีวิทยุและโทรทัศน์พระพุทธศาสนา ริเริ่มให้พระสงฆ์นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กับงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ริเริ่มให้จัดตั้งกลุ่มโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา จัดการเรียนการสอนตามแนวโรงเรียนวิถีพุทธ และให้เรียกเยาชนที่เรียนในโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา ว่า “ลูกพระพุทธเจ้า” ริเริ่มให้ปรับการเจริญพระพุทธชัยมงคลคาถาในวันขึ้นปีใหม่ เป็นการสวดมนต์ข้ามปี เพื่ออนุวัติให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ริเริ่มการจัดกิจกรรมงานวัด และกิจกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา อนุวัติให้สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ ริเริ่มจัดตั้งพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ริเริ่มให้พระสังฆาธิการเกษียรอายุในวัย ๘๐ ปี เพื่อยกขึ้นเป็นปูชนียบุคคลของสังฆมณฑล
ในส่วนงานพระพุทธศาสนาในต่างประเทศ เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นคณะกรรมการจัดตั้งสภาสงฆ์แห่งโลก เป็นผู้ริเริ่มสานศาสนสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เป็นผู้ริเริ่มจัดงานวิสาขบูชาโลก เป็นผู้ริเริ่มเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ริเริ่มการสร้างวัดไทยในต่างประเทศ และริเริ่มให้มีการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปประจำ ณ วัดไทยในต่างประเทศ ได้ออกเดินทางไปต่างประเทศทั่วทุกมุมโลก สร้างศาสนาสัมพันธ์อันดีกับผู้นำต่างศาสนา เพื่อหาแนวทางที่จะให้มีวัดเกิดขึ้นในประเทศนั้นๆ อันมีแรงบันดาลใจมาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) ผู้เป็นพระอาจารย์
ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้ออกเดินทางไปร่วมประชุมสังคายนาพระไตรปิฎกฉัฏฐสังคีติ ณ ประเทศพม่า และในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ก็ได้เดินทางไปประชุมอรรถกถาสังคายนา เพื่อฉลองกึ่งพุทธศตวรรษ ณ ประเทศพม่า อีกครั้ง ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ภายหลังดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดี และเป็นหัวหน้าแผนกธรรมวิจัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ได้เดินทางไปสังเกตการณ์พระศาสนาในประเทศใกล้เคียง ได้แก่ ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย และศรีลังกา เป็นต้น
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปสังเกตการณ์พระศาสนาและเชื่อมศาสนสัมพันธ์ ที่ประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง และจีน ฯลฯ ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนอย่างสำคัญแห่งหน้าประวัติศาสตร์ศาสนา ในการเชื่อมพระพุทธศาสนาเถรวาทกับมหายานเข้าด้วยกันอย่างแนบแน่น จนถึงปัจจุบัน พระพุทธศาสนามหายานในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน และจีน ได้ขอรับการอุปสมบทตามแบบอย่างพระสงฆ์เถรวาท เกิดประเพณีการบวชตามแบบอย่างพระสงฆ์เถรวาทก่อนบวชตามแบบอย่างพระสงฆ์มหายาน ขึ้นในประเทศญี่ปุ่น จีน และไต้หวัน และได้สร้างภูเขาทองจำลองไว้เป็นอนุสรณ์แห่งสายสัมพันธ์ทางศาสนา ในเวลาต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ภายหลังได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ออกเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจไกลถึงภาคพื้นยุโรป เกิดวัดไทยแห่งแรกขึ้นในเนเธอร์แลนด์ ชื่อว่า “วัดพุทธาราม” ต่อมา เมื่อคณะสงฆ์เกิดกองงานพระธรรมทูตสายต่างประเทศ ทำให้วัดไทยเริ่มขยายออกไปตามประเทศต่างๆ ในยุโรปและออสเตรเลีย ทั้งเยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี เป็นต้น
ในการเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจนอกอาณาเขตพระพุทธศาสนาไกลออกไปถึงยุโรป เจ้าประคุณสมเด็จฯ มีโอกาสได้พบกับท่านปรีดี พนมยงค์ และชาวไทยผู้ลี้ภัยทางการเมือง ที่พำนักอยู่ในยุโรปเป็นจำนวนมาก จึงได้ทราบถึงสภาพความเป็นอยู่และความต้องการของชาวไทยในต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะต้องต่อสู้กับสภาพภูมิอากาศที่หนาวเหน็บตลอดทั้งปีแล้ว ยังจะต้องปรับตัวให้เข้าวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ ด้วย สิ่งที่ชาวไทยต้องการในขณะนั้น คือ ต้องการให้มีวัด และพระสงฆ์ไปอยู่ประจำ สำหรับทางยุโรป โดยเฉพาะประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย เป็นดินแดนที่ไม่น่าจะมีพระสงฆ์สามารถไปสร้างวัดไทยได้ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศค่อนข้างเหน็บหนาว ถูกปกคลุมไปด้วยหิมะเกือบตลอดทั้งปี เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ยึดเอาประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นจุดเริ่มต้นในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแถบสแกนดิเนเวีย โดยมีความเชื่อมั่นว่า แม้สภาพภูมิอากาศประเทศในแถบสแกนดิเนเวียจะหนาวเกือบตลอดทั้งปี แต่สภาพจิตใจของคนในแถบนี้กลับอ่อนโยน จึงเกิดความเชื่อมั่นว่า พระพุทธศาสนาน่าจะเจริญได้ในสแกนดิเนเวีย จึงชักธงธรรมจักรขึ้นเหนือหน้าต่างที่พัก เป็นสัญลักษณ์ว่า พระพุทธศาสนาเริ่มหยั่งรากฝังลึกลงบนดินแดนแห่งนี้แล้ว ทำให้วัดไทยเกิดขึ้นอีกมากมายในเวลาต่อมา เช่น วัดพุทธาราม เนเธอร์แลนด์ วัดพุทธาราม กรุงสต๊อกโฮล์ม วัดพุทธาราม เฟรดิก้า วัดสยามินทร์มังคลาราม ประเทศสวีเดน วัดไทยนอร์เวย์ ประเทศนอร์เวย์ วัดไทยเดนมาร์ค กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ค วัดไทยฟินแลนด์ กรุงเฮลซิงกิ วัดไทยเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน วัดไทยไอซแลนด์ และวัดไทยเบลเยียม ซึ่งขยายวัดออกไปอีกถึง ๓ วัดในลักซัมเบิร์ก ในเวลาต่อมา
วัดพุทธาราม เนเธอร์แลนด์ นับได้ว่า เป็นวัดไทยแห่งแรกในยุโรป และเป็นศูนย์ฝึกพระธรรมทูตให้รู้จักวิธีการดำรงชีวิตในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย จากนั้น พระธรรมทูตก็จะถูกส่งออกไปปฏิบัติศาสนกิจในประเทศต่างๆ ในแถบนี้ พระพุทธศาสนาในประเทศสวีเดน เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างดียิ่ง และเป็นประเทศแรกในโลกตะวันตก ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างวัด โดยดำริจะให้มีวัดไทยเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้พระพุทธศาสนาในประเทศของตน และได้จัดสรรพื้นที่ให้กว่า ๒๗๐ ไร่ เพื่อดำเนินการสร้างวัดไทย การที่ภาครัฐและเอกชนของประเทศสวีเดน ได้เข้ามาดูแลการสร้างวัดไทยเช่นนี้ จึงเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจสำหรับชาวไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา หากเอาเงินไทยไปสร้างวัดให้ฝรั่ง จะต้องนำเงินไทยออกจากประเทศจำนวนมหาศาลจึงจะสร้างวัดได้สักวัดหนึ่ง การสร้างวัดไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะทางด้านยุโรป พระสงฆ์ได้ใช้เงินไทยน้อย โดยใช้เงินประเทศนั้นเพื่อสร้างวัดประเทศนั้น ซึ่งเป็นการให้ฝรั่งสร้างวัดพระพุทธศาสนาให้ฝรั่งเอง เพราะเจ้าของผู้สร้างจะได้เกิดความรักความผูกพันในสิ่งที่เขาสร้างขึ้นมา จะทำให้วัดไทยมีความมั่นคง ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดี
เจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงวางเป็นแนวทางการสร้างวัดสำหรับพระธรรมทูตไว้ว่า “พระสงฆ์ไปปฏิบัติงานประเทศใดต้องใช้เงินของประเทศนั้นสร้างวัด เพราะถ้าจะเอาเงินไทยไปสร้างวัดในต่างประเทศ เราจะต้องเอาเงินบาทออกนอกประเทศเท่าไรจึงจะสร้างวัดได้วัดหนึ่ง ค่าเงินบาทกับเงินต่างประเทศแตกต่างกันมาก พระสงฆ์ที่ไปอยู่ต่างประเทศจึงต้องเก่งและมีความอดทนสูง” ในปี ๒๕๐๘ เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถระ) มีบัญชาให้เป็นผู้แทนพระองค์ท่านเดินทางไปร่วมพิธีฉลองอัฐิธาตุ ๑,๐๐๐ ปี พระอติษ ทีปังกร ศรีชญาณเถระ ตามคำนิมนต์ของรัฐบาลจีน และในโอกาสเดียวกันได้เดินทางตามเส้นทางสายไหมต่อไปยังปากีสถานและอัฟกานิสถาน โดยความอุปถัมภ์ของพุทธสมาคมจีน เพื่อศึกษาเส้นทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา สำหรับพระอติษ ทีปังกร ศรีชญาณเถระ เป็นพระเถระชาวปากีสถานมีชีวิตอยู่เมื่อ ๑,๐๐๐ ปี ที่แล้ว ได้เดินทางไปเผยแผ่พระศาสนาในจีนและธิเบต จนเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนชาวจีนและชาวธิเบต โดยมีความเชื่อว่า ท่านเป็นพระโพธิสัตว์กลับชาติมาเกิด เพื่อขนมวลสรรพสัตว์ข้ามสังสารวัฏ ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ได้เดินทางไปสังเกตการณ์พระพุทธศาสนาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา ตามคำนิมนต์ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยคณะผู้ร่วมเดินทาง ประกอบด้วย เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เป็นหัวหน้าคณะ เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) และ พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เป็นเหตุให้เห็นหนทางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ได้เกิดการวางรากฐานพระพุทธศาสนา และเกิดวัดไทยขึ้นทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา โดยอาศัยสมาคมชาวไทยต่างๆ เช่น สมาคมชาวไทยอีสาน สมาคมชาวไทยเหนือ และสมาคมชาวไทยทักษิณ ตลอดจนนักศึกษาในอเมริกา
การเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจในดินแดนฝั่งตะวันตก ไกลออกไปถึงสหรัฐอเมริกา นับเป็นการเดินทางเผยแผ่พระพุทธศาสนารอบโลก ที่ไกลที่สุด เป็นครั้งแรก ในประวัติศาสตร์การเผยแผ่พระศาสนาของคณะสงฆ์ หลังสิ้นสุดยุคพระธรรมทูตทั้ง ๙ สาย ของพระเจ้าอโศกมหาราช รวมระยะเวลาเดินทางถึง ๘๐ วัน ใน ๑๑ ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม เยอรมัน เดนมาร์ก สวิสเซอร์แลนด์ อิตาลี กรีก และอินเดีย และ ในปีเดียวกันนี้ ภายหลังกลับจากเดินทางรอบโลก เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ไปสังเกตการณ์พระศาสนาในประเทศญี่ปุ่นอีกครั้ง เพื่อตามรอยเส้นทางพระบรมสารีกธาตุ รศ. ๑๑๖ ซึ่งขุดพบที่กรุงกบิลพัสดุ์ ประเทศอินเดีย ส่วนเดียวกับที่ประดิษฐานอยู่บนบรมบรรพต (ภูเขาทอง) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระราชทานแก่ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาต่างๆ เช่น ลังกา พม่า ลาว ญี่ปุ่น เกาหลี และไซบีเรีย เป็นต้น โดยเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เดินทางไปตามเมืองที่สำคัญต่างๆ ของญี่ปุ่น จนถึงเมืองนาโกย่า แล้วเข้านมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระเจดีย์ วัดนิไทจิ
เมื่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ได้สร้างอาคารหลังหนึ่งขึ้นภายในบริเวณวัด และให้ชื่อว่า “อาคารอนุสรณ์สมเด็จฯ ญาโณทยมหาเถระ พ.ศ.๒๕๑๗” เพื่อเป็นที่พักพระสงฆ์ต่างประเทศ ที่เข้ามาศึกษาเล่าเรียนพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ให้ได้รับความสะดวกสบายในเรื่องที่อยู่อาศัย ก็เพื่อเป็นอนุสรณ์ แด่ ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) พระอาจารย์ผู้จุดประกายความคิดที่จะให้พระพุทธศาสนาแผ่ไพศาลไปในโลกตะวันตก ซึ่งอาคารดังกล่าวได้มีพระสงฆ์จากประเทศลาว กัมพูชา พม่า จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ไต้หวันเนปาล และบังคลาเทศ เป็นต้น เข้ามาพำนักอยู่เรื่อยมา หลังจบการศึกษา บางรูปเดินทางกลับประเทศของตน บางรูปได้ทำหน้าที่เป็นพระธรรมทูตในนามพระสงฆ์ไทยเดินไปเผยแผ่พระศาสนายังประเทศตะวันตก
แม้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ การตั้งวัดในต่างประเทศ และการที่จะให้มีพระธรรมทูตไปประจำที่ต่างประเทศ ในยุคแรกเริ่ม ต้องพบกับอุปสรรคปัญหานานาประการ แต่ที่สุด เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็สามารถนำพาพระธรรมทูตสายต่างประเทศ ก้าวข้ามห้วงเวลาแห่งความยากลำบากไปได้ ทุกครั้งที่มีผู้ตำหนิพระธรรมทูตต่างประเทศ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็จะกล่าวด้วยแววตาอ่อนโยนเสมอว่า “ คนไทยไปเมืองนอก เพื่อไหว้ฝรั่ง แต่พระไปเมืองนอก เพื่อให้ฝรั่งไหว้ " แม้เช่นนั้น การสร้างวัดในต่างประเทศ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย พระธรรมทูตต้องทำงานอย่างน่าสงสาร ต้องทุ่มเทสรรพกำลังความสามารถ ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล และ ต้องเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่งชีวิต กว่าจะสร้างวัดได้แต่ละวัด เจ้าประคุณสมเด็จฯ ให้ความสำคัญกับการศึกษา พระเณรต้องเรียน เรียนอะไรก็ได้ ที่ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย เพราะพระเณรจะเป็นผู้รักษาพระศาสนา และเน้นให้ทำงานช่วยกันปลูก จิตสำนึกด้านคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรมให้กับเยาวชนและประชาชนในชาติ ซึ่งหนทางนี้เท่านั้น จะช่วยให้เกิดความมั่นคงแก่พระศาสนา จึงเป็นจุดเริ่มต้นการจัดตั้ง "สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์” แม้ในยามที่ร่างกายโรยแรง เริ่มชราภาพลง แต่ข่าวคราวที่พระสงฆ์สามเณรและชาวพุทธ ถูกฆ่าที่ภาคใต้ กลับเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น พระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน ๒๖๐ รูป ในสะตูล สงขลา ยะลา นาราธิวาส และปัตตานี จึงถูกก่อตั้งขึ้นตามดำริของเจ้าประคุณสมเด็จฯ เพื่อปลุกจิตสำนึกให้พระสงฆ์ร่วมกันทำงาน ในพื้นที่เสี่ยงภัย นับตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๕๓ เป็นต้นมา
เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ประทานโอวาท แก่ พระธรรมทูตอาสา ว่า “หากไม่มีพระสงฆ์ ในพื้นที่ ชาวพุทธก็หมดที่พึ่ง ...ก็ชื่อว่า พระพุทธศาสนาได้หมดไปแล้ว ขอให้ทุกองค์หนักแน่น มั่นคง อยู่เป็นกำลังใจให้ชาวพุทธ ถึงแม้วันหนึ่งวันใดข้างหน้า พระพุทธศาสนาจะหมดไปจาก ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ขอให้วันนั้น มีพระสงฆ์เดินออกจากพื้นที่เป็นคนสุดท้าย” นับเป็นแสงแห่งจิตวิญญาณความมั่นคงพระพุทธศาสนา แสงสุดท้าย ที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ถ่ายทอดจิตวิญญาณความรักในพระพุทธศาสนา ผ่านพระธรรมทูตอาสา อันเป็นอมตะวาจาที่จะตรึงใจเหล่าพุทธบุตร ผู้ทำหน้าที่พระธรรมทูตอาสา ไปตราบนานเท่านาน ความสำเร็จของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศทั่วโลก จนพระพุทธศาสนาเบ่งบานกลางหิมะในโลกตะวันตกอย่างแข็งแกร่ง เกิดจากการวางรากฐานที่สำคัญของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ผู้ริเริ่มการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลก ริเริ่มการสร้างวัดไทยในต่างประเทศ และริเริ่มให้มีการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปประจำ ณ วัดไทยในต่างประเทศ เป็นเหตุให้พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นพระธรรมทูตได้ยึดเป็นแนวทางอันเดียวกัน เป็นที่มาแห่งความสำเร็จของงานพระศาสนาในต่างประเทศ นับได้ว่า เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้เปิดวิสัยทัศน์ธรรมสู่วิสัยทัศน์โลก ทำให้พระพุทธศาสนาแผ่ไพศาลไป เป็นที่พักพิงทางด้านจิตใจแก่ชาวไทย และประชาชนในต่างประเทศทั่วโลก เรื่องราวทั้งหมดเหล่านี้ จะถูกจดจำ เล่าขานถ่ายทอดสืบต่อกัน จนกลายเป็นตำนาน จากตำนานกลายเป็นประวัติศาสตร์ จากประวัติศาสตร์กลายเป็นความทรงจำของโลก ที่สุดแล้ว นามของพระมหาเถระท่านนี้ ก็จะถูกจารึกบนหน้าประวัติศาสตร์แห่งความทรงจำของโลก ในนามผู้นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานยังแผ่นดินตะวันตกอันไกลโพ้น ตลอดไป.