คณะพระธรรมจาริกมอบจักรยาน ให้เด็กนักเรียนในถิ่นทุรกันดารในโครงการจักรยานเพื่อน้อง

2142 จำนวนผู้เข้าชม  | 

คณะพระธรรมจาริกมอบจักรยาน ให้เด็กนักเรียนในถิ่นทุรกันดารในโครงการจักรยานเพื่อน้อง

คณะพระธรรมจาริกมอบจักรยาน ๓๕๖ คันให้แก่เด็กนักเรียนในถิ่นทุรกันดารคณะพระธรรมจาริกมอบจักรยาน ๓๕๖ คันให้แก่เด็กนักเรียนในถิ่นทุรกันดารในโครงการจักรยานเพื่อน้อง โดยคณะพระธรรมจาริก ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๐

สำนักงานประธานคณะพระธรรมจาริก วัดเบญจมบิตรฯ ได้จัด “โครงการจักรยานเพื่อน้อง โดยคณะพระธรรมจาริก” ขึ้น โดยเป็นสื่อกลางระหว่างผู้ให้กับผู้รับ ในการส่งความปรารถนาดีจากชนในเมืองสู่ชนในพื้นที่สูงในถิ่นกันดารเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันและเป็นการแบ่งปันความสุขและรอยยิ้มให้แก่เด็กๆ ในถิ่นทุรกันดารบนพื้นที่สูง ด้วยการมอบจักรยานจำนวน ๓๕๖ คัน ให้แก่เด็กนักเรียนเผ่าต่างๆ เพื่อใช้ในการเดินทางไปเรียนหนังสือ โดยคณะพระธรรมจาริกได้ดำเนินการส่งมอบจักรยานให้แก่เด็กๆในพื้นที่ต่างๆ ดังนี้  1.บ้านคลองมะนาว ต.หินดาต อ.ปางศิลาทอง จ.กำแพงเพชร 20 คัน 2. อ.แม่ทา จ.ลำพูน 29 คัน 3. บ้านแม่แพม ต.เมืองแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ 24 คัน 4. บ้านสวนอ้อย ต.แม่เงา อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน 6 คัน 5. บ้านหนองเต่า ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ 18 คัน 6. บ้านแม่แฮเหนือ ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ 13 คัน 7. อ.ท่าสองยาง จ.ตาก 28 คัน 8. บ้านผาปูน ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ 54 คัน 9. บ้านห้วยห้า ต.ห้วยหอม อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน 110 คัน 10. บ้านประชาภักดี ต.ร่มเย็น อ.เชียงคำ จ.พะเยา 15 คัน 11. บ้านหัวแม่สุริน ต.แม่อูคอ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน 39 คัน 

“โครงการพระธรรมจาริก” จัดตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ โดยมี “สมเด็จพระพุทธชินวงศ์” อดีตเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นองค์สถาปนา ด้วยปณิธานที่มุ่งหวังให้ราษฎรบนพื้นที่สูง ซึ่งเป็นประชาชนส่วนหนึ่งของประเทศ ได้พัฒนาให้เป็นพลเมืองไทยที่มีคุณภาพสามารถช่วยเหลือตนเองได้ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทางด้าน อาชีพ  ความเป็นอยู่ และมีการปลูกฝังด้านศีลธรรมจริยธรรม โดยคณะพระธรรมจาริก คือพระภิกษุสามเณรคณะหนึ่งที่ได้รับมอบหมายให้ขึ้นไปปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายตามชุมชนบนที่ราบสูง ซึ่งเป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นตามมติมหาเถรสมาคมภารกิจที่ได้รับมอบหมายนั้น คือ การกระชับความสัมพันธ์ทางจิตใจของราษฎรบนพื้นที่สูงให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นโดยอาศัยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นตัวเชื่อมให้เกิดความสงบสุขผ่านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและอบรมศีลธรรมให้กับราษฎรบนพื้นที่สูงตามโครงการต่างๆและใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนบนที่ราบสูงให้สามารถดำรงชีพได้อย่างถูกครรลอง ทำให้มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และมีความรักและความหวงแหนในแผ่นดินไทย มีความจงรักภัคดีต่อสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และการเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ 

การสร้างศาสนทายาทในชุมชน เปรียบเหมือนการปลูกต้นกล้าของพันธุ์พืชลงบนผืนดิน เมื่อรากแก้วได้หยั่งลง ก็รอวันที่เติบโต ดังนั้นการเผยแผ่ธรรมในถิ่นทุรกันดาร จึงเน้นการพัฒนาคนมากกว่าการพัฒนาความเจริญทางวัตถุหรือเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ เน้นการปลูกฝังเยาวชนให้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ผ่านกิจกรรมต่างๆที่ส่งเสริมการเผยแผ่พระศาสนาในถิ่นทุรกันดาร อาทิ ๑.จัดพิธีบรรพชาอุปสมบทหมู่ชาวเขา ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องมา ๕๒ ปี โดยเข้ารับการอุปสมบท ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ๒.พิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ๓.การบวชป่า สืบชะตาป่า ๔.จัดพิธีบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน เยาวชนยุวพุทธ ค่ายคุณธรรม การสอนจริยธรรมในโรงเรียน บุญสัญจร สวดมนต์สัญจร การรณรงค์ลด ละ เลิก อบายมุขเป็นต้น ๕. การส่งเสริมชาวเขาที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา โดยจัดให้มีชั้นเรียนผู้ใหญ่ชาวเขาและชั้นเรียนสามเณรชาวเขาตามพื้นที่ต่างๆ อาทิ วัดศรีโสดา ศูนย์พัฒนาศักยภาพเยาวชนสตรี วัดวิเวกวนาราม 

ปัจจุบันราษฎรบนพื้นที่สูง มีจำนวนประมาณ ๙๐๐,๐๐๐ คน ส่วนมากอาศัยอยู่กระจัดกระจายบริเวณภูเขาสูงทางภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศ รวม ๒๐ จังหวัด แบ่งเป็นเผ่าต่างๆได้แก่ กะเหรี่ยง ม้ง เมี่ยน ลาหู่ ลีซอ อาข่า ลั้วะ ขมุมาลาขรี มูเซอ ถิ่น และตองเหลือง ซึ่งแต่ละเผ่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตน ในด้านต่างๆ เช่น ขนบธรรมเนียมประเพณี เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย อาหาร และแม้กระทั่งทำเลที่ตั้งบ้านเรือน ประธานคณะพระธรรมจาริก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ๑.สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดเบญจมบพิตร พ.ศ.๒๕๐๗ – ๒๕๓๗ รวม ๒๐ ปี ๒.สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ พ.ศ.๒๕๓๗-๒๕๕๗ รวม ๓๐ ปี ๓.พระเทพกิตติเวที วัดเบญจมบพิตร พ.ศ.๒๕๕๗-ปัจจุบัน

 

เรียบเรียงโดย: สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ

ขอบคุณข้อมูล: คณะพระธรรมจาริก วัดเบญจมบิตรฯ

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้