503 จำนวนผู้เข้าชม |
"พระพรหมสิทธิ"ร่วมประชุมยกระดับพระพุทธศาสนา
พระพรหมสิทธิร่วมประชุมผู้นำพุทธศาสนา เพื่อเจริญศาสนสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือในการยกระดับพระพุทธศาสนาในพื้นที่"ล้านช้าง-ลุ่มน้ำโขง
เมื่อวันที่ 26 มี.ค. เมืองไหโข่ว เกาะไหหลำ สาธารณรัฐประชาชนจีน พระพรหมสิทธิ ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ปฏิบัติศาสนกิจเป็นประธานร่วมในการประชุมผู้นำพุทธศาสนา เพื่อเจริญศาสนสัมพันธ์ สร้างความร่วมมือในการยกระดับพระพุทธศาสนา ขึ้นสู่แกนกลางการหล่อหลอม เชื่อมโยงกลุ่มประเทศในพื้นที่"ล้านช้าง-ลุ่มน้ำโขง จำนวน ๖ ประเทศ ได้แก่ จีน ไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา พม่าโดยในภาคเช้าเป็นการชมนิทรรศการภาพวาด "ตังการ์" ฝีมือศิลปะทิเบตบอกเล่าเรื่องราวของ ท่านปัญจลามะทั้ง ๑๐ พระองค์ ที่ถือเป็นผู้นำจิตวิญญาณของทิเบตซึ่งเป็นภาพวาดมีขนาดความยาวถึง ๕๑ เมตรใช้เวลา ๕ ปีในการวาดถือเป็นนิทรรศการที่มีคุณค่าต่อเรื่องประวัติเรื่องราวของทางทิเบตและความสัมพันธ์อันดีต่อรัฐบาลจีน เป็นอย่างมาก
จากนั้นเป็นกิจกรรมการเทน้ำโขงจากแหล่งน้ำของทั้ง ๖ ประเทศเข้าสู่ภาชนะอ่างทองคำเดียวกัน เพื่อเป็นเชิงสัญลักษณ์ในการแสดงถึงความสมัครสมานสามัคคีและทำให้เห็นถึงพระพุทธศาสนาเป็นแกนกลางของการหล่อหลอมวัฒนธรรมในพื้นภาพ ล้านช้างและลุ่มน้ำโขง อย่างชัดเจน เพื่อความก้าวหน้าของมนุษยชาติและการพัฒนาระดับโลก รัฐบาลจีนได้ประกาศนโยบายพัฒนา เส้นทางสายไหมทางทะเล ซึ่งจะสร้างประโยชน์มหาศาลให้กับ ประชากรในพื้นที่นั้นๆ
พระพรหมสิทธิ กล่าวต่อที่ประชุมว่า ประเทศในแถบเอเชียมีพระพุทธศาสนาเป็นอัตตลักษณ์ร่วมกัน วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของประชาชน มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ประเทศจีนมีบทบาทอย่างสำคัญมาช้านาน ในการนำพระพุทธศาสนามาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดังปรากฏจากพระสงฆ์ชาวจีน นามว่า ฟาเหียน ได้เดินทางจากประเทศจีนสู่แผ่นดินพุทธภูมิ ราว พ.ศ. 942-957 โดยใช้เส้นทางสายไหมทางทะเลในการเดินทาง และเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาว่า หลวงจีนฟาเหียนได้เดินทางทะเลจากแดนพุทธภูมิมายังลังกา ผ่านอาณาจักรศรีวิชัยที่เกาะชะวา และ พระถังซำจั๋ง เป็นพระสงฆ์ชาวจีนที่สำคัญอีกท่านหนึ่ง ที่ใช้เส้นทางสายไหมทางบกในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเป็นแบบอย่างสำหรับพระสงฆ์รุ่นหลังได้ดำเนินตาม ปรากฏเกียรติคุณไปทั่วโลกถึงปัจจุบัน การเชื่อมเอเชียด้วยพระพุทธศาสนา ที่ประเทศจีนจะนำพุทธศาสนามาเป็นอัตตลักษณ์ร่วมกัน จะเป็นการนำสันติภาพและสันติสุขอย่างยั่งยืนมาสู่ภูมิภาคนี้ จึงนับเป็นข่าวที่น่ายินดียิ่ง
ชาวพุทธไม่ว่าจะเป็นเถรวาทหรือมหายาน ก็เป็นพี่น้องกัน เพราะมีพระบรมศาสดาองค์เดียวกัน คือ พระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีลำต้นมาจากรากเดียวกัน คือ หลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งแตกออกเป็น ๒ กิ่งใหญ่ คือ เถรวาท และ มหายาน ซึ่งแตกออกเป็นกิ่งใบให้ร่มเงาได้ร่มเย็น ซึ่งก็คือ พิธีกรรมทางศาสนาตามจารีต ประเพณี และวัฒนธรรมของแต่ละนิกายที่นับถือ ใครทุกข์ร้อนสิ่งใด ก็ใช้พระศาสนาทั้งในแง่ของคำสอนและพิธีกรรมแก้ทุกข์ด้วยวิธีที่เหมาะแก่อัธยาศัย และจริตของตน ก็พอผ่อนคลายทุกข์ในจิตไปได้ ไม่ว่าจะสวดมนต์แบบไหนจะเป็นแบบไทย แบบจีนก็ไม่ได้รู้สึกถึงแตกต่างกันซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของพระพุทธศาสนา
การที่ชาวพุทธในภูมิภาคนี้จะได้ร่วมกัน ทั้งการสื่อสารและแลกเปลี่ยนทางพุทธศาสนา, งานสงเคราะห์การศึกษา, งานสาธารณสุข, งานสังคมสงเคราะห์, การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ และการสร้างเวทีแบ่งปันเอกสารสำคัญและทรัพยากรทางพระพุทธศาสนา ฯลฯ ก็จะเป็นความร่วมมือที่นำสันติสุขมาสู่มวลมนุษยชาติ และชื่อว่า ทำคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เป็นที่ปรากฏ โดยการนำไปสู่การลงมือปฏิบัติในชีวิต.
ข่าวต้นฉบับ : https://www.dailynews.co.th/education/564357