850 จำนวนผู้เข้าชม |
มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม (๒)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
(คำปรารภ)
เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาจุฬาลกรณวิทยาลัย ในพระบรมราชปถัมภ์ ที่ปัจจุบันเรียกชื่อตามกฎหมายว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬางกรณราชวิทยาลัย ในช่วง ๒๕๐๗ - ๒๕๒๑ รวมเวลา ๑๕ ปี ตั้งแต่ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชสุทธิเมธี พระเทพคุณาภรณ์ พระธรรมคุณาภรณ์ และพระพรหมคุณาภรณ์ โดยลำดับ นับว่าเป็นเลขาธิการองค์จริงจังในกิจการอย่างยาวนานที่สุด ของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้
ในสมัยนี้ เลขาธิการเป็นตำแหน่งของผู้เป็นหัวหน้าที่ทำงานจริง ในการดำเนินของมหาวิทยาลัยทั้งหลาย มิใช่เพียงตำแหน่งเกียรติยศ ดังมีคำอธิบายในหนังสือนี้แล้ว
ในฐานะเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของมหาจุฬาฯ มิใช่ท่านจะต้องทำงานไปทุกอย่าง แต่กิจการทั้งปวงในระยะเวลานั้นทั้งหมด ดำเนินไปในความควบคุมดูแลและความเห็นชอบของท่าน โดยเฉพาะในยุคสมัยนั้น มีการทำงานที่เป็นระบบแห่งความร่วมแรงร่วมใจ โดยเป็นไปในสามัคคีสมานฉันท์ จึงพูดง่ายๆ รวมๆ ว่าเป็นกิจการของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในยุคที่เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เป็นเลขาธิการ
ในหนังสือนี้ ได้เล่าเรื่องราวความเป็นไปในกิจการของมหาจุฬาฯ ในช่วงเวลา ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๑๗) เมื่อผู้เล่าสนองงานในฐานะผู้ช่วยของท่าน คือเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ
การเขียนเล่าเรื่องราว และทำหนังสือนี้ขึ้น ขอถือเป็นการร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในวาระสำคัญยิ่ง แห่งงานพระราชทานเพลิงศพ
อนึ่ง การเขียนสะกดคำบางอย่าง อาจต่างไปจากที่ใช้กันมาบ้าง ในเมื่อเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสม เช่น แทนที่จะเขียน “วรสารเถร” ก็เขียนเป็น “วรสารเถระ”
ขอกุศลในการนี้ จงเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามของพุทธบริษัท ในไตรสิกขา และในไตรพิธบุญกิริยา เพื่อความแผ่ไพศาลแห่งพระพุทธศาสนา และเพื่อความไพบูย์แห่งประโยชน์สุขของปวงประชา อันเป็นจุดหมายในการบำเพ็ญศาสนกิจทั้งปวงของเจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ ยั่งยืนนานสืบไป
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
กำลังยังมีที่จะส่งต่อก้าวกันไป
ในการเสด็จมาสมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถระ วัดสระเกศนั้น มีพระเถระแห่งวัดสระเกศตามเสด็จประจำพระองค์ และพระเถระนั้นก็เป็นครูอาจารย์ เป็นผู้บริหารอยู่ในมหาจุฬาฯนี้ด้วย
เข้าใจได้อย่างคงไม่ผิดแน่ว่า การที่สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้นเสด็จมาสม่ำเสมอที่มหาจุฬาฯ เป็นไปด้วยพระเมตตาต่อมหาจุฬาฯ โดยเนื่องกันพระเมตตาต่อพระเถระสัทธิวิหาริกผู้ตามเสด็จนั้นเสริมและหนุนอีกชั้นหนึ่ง
พระเถระวัดสระเกศรูปนั้น คือ พระราชวิสุทธิเมธี (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.๙) ซึ่งได้เป็นรองอธิการบดีมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยอยู่ก่อน และในพ.ศ. ๒๕๐๗ นั้นเอง หลังจากสละตำแหน่งรองอธิการบดีในช่วงต้นปีแล้วไม่นานนัก ท่านก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อันเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ซึ่งเป็นการปรับตัวของมหาจุฬาฯ ในการจัดระบบและวางรูปงานให้รับได้ทันกับสถานการณ์ในเวลาช่วงใหม่ที่จะสืบกาละนั้นต่อไป
โหดจะถึงสิ้นปี ๒๕๐๗ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม พระราชวิสุทธิเมธี ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพคุณาภรณ์
แล้วในปีพศ ๒๕๐๘ พระเทพคุณาภรณ์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ซึ่งเป็นเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ก็ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ก่อนที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์ในปีนั้น
ย้อนหลังไป พระราชวิสุทธิเมธี ครั้งเป็นพระมหาเกี่ยว อุปเสโณ เมื่อสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยคใน พ. ศ. ๒๔๙๗ แล้วไม่นาน ก็ได้มาเป็นอาจารย์สอนภาษาบาลีที่มหาจุฬาฯ ครั้นถึงครึ่งหลังของปี พ.ศ. ๒๕๐๐ มหาจุฬาฯ ดำเนินการสอนตามโครงการใหม่ มีการจัดหลักสูตรใหม่ โดยแบ่งแผนกวิชาออกเป็น ๓ แผนก คือ
๑. แผนกวิชาบาลี-ธรรม มีพระมหาเกี่ยว อุปเสโณ เป็นหัวหน้าแผนก
๒. แผนกวิชาทั่วไป มีอาจารย์ประหยัด ไพทีกุล เป็นหัวหน้าแผนก
๓. แผนกวิชาภูมิวิทยา มีอาจารย์ผาด แก้วสีปลาด เป็นหัวหน้าแผนก
พระมหาเกี่ยว อุปเสโณ ได้รับแต่งตั้งเป็น ประธานหัวหน้าแผนก ทั้งนี้ มีความปรากฎใน วารสาร ฉบับที่ ๑ ระเบียบกาต่างๆ ๒๕๐๐-๑/๑๙๕๙-๕๘ (Bulletin I: Catalogue Issue 2500-1/1957-58) ว่า พระมหาเกี่ยว อุปเสโณ เป็นหัวหน้าแผนกวิชาบาลี-ธรรม และเป็น Chairman of Faculty
ท่านได้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในมหาจุฬาฯ รวมทั้งได้เป็นหัวหน้าแผนกธรรมวิจัย (พ.ศ. ๒๕๐๑) แล้วต่อมา เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชวิสุทธิเมธี ใน พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพคุณาภรณ์ ใน พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมคุณาภรณ์ ใน พ.ศ. ๒๕๑๔ แล้วเป็นพระราชาคณะ เจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ ที่ พระพรหมคุณาภรณ์ ใน พ.ศ. ๒๕๑๖ จนสุดท้ายเป็นพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ใน พ.ศ. ๒๕๓๓
พระเถระวัดสระเกศอีกรูปหนึ่ง ซึ่งก็เป็นสัทธิวิหาริกของสมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถระ และผู้เล่าเข้าใจว่าได้ตามเสด็จประจำพระองค์เช่นเดียวกัน คือ พระกวีวรญาณ (จำนงค์ ชุตินฺธโร ป.ธ.๙, M.A.) ซึ่งสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ใน พ.ศ. ๒๔๙๖ และได้สำเร็จการศึกษา เป็น ๑ ใน ๖ รูป ของพุทธศาสตรบัณฑิต รุ่นแรก ของมหาจุฬาฯ ใน พ.ศ. ๒๔๙๗
พระกวีวรญาณ ครั้งเป็นพระมหาจำนงค์ ชุตินฺธโร และยังเป็นนิสิตรุ่นแรกอยู่นั้น ได้ใช้ความเป็นผู้นำให้เป็นประโยชน์อย่าสำคัญ โดยได้ริเริ่มวันงานอนุสรณ์มหาจุฬาฯขึ้น ด้วยการชักชวนนิสิตจัดงานวันอนุสรณ์มหาจุฬาฯ ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ เพื่อรำลึกถึงการเปิดการศึกษาครั้งแรกของมหาจุฬาฯ และเป็นการแสดงออกซึ่งกตัญญูกตเวทิตาธรรมต่อรัชกาลที่ ๕ พระผู้ทรงสถาปนามหาจุฬาและพระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตเถร) องค์ปฐมสภานายก โดยพระมหาจำนงค์ ชุตินฺธโร ได้รับเลือกให้เป็น “ประธานคณะกรรมการนิสิต” คนแรก แล้วจากนั้นก็ได้ถือเป็นประเพณีให้การจัดงานวันอนุสรณ์มหาจุฬาฯ เป็นภาระของกรรมการนิสิต (วันอนุสรณ์มหาจุฬาฯ นี้ ได้ทราบว่า ปัจจุบัน เรียกเป็นวันบุรพาจารย์)
พอจบการศึกษาได้ปีเดียว ถึง พ.ศ. ๒๔๙๘ พระมหาจำนงค์ ชุตินฺธโร ก็ได้เป็นสั่งการเลขาธิการมหาจุฬาฯ ในช่วงเวลาที่พระทักษิณวรนายก (ต่อมาคือ พระธรรมวรนายก เป็นรักษาการในตำแหน่งอธิการบดี ครั้งถึง พ.ศ. ๒๕๐๐ ทั้งยังมีพรรษา ๘ ก็ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระกวีวรญาณ ขณะที่เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)
ครั้นถึงปี ๒๕๐๒ พระกวีวรญาณ ได้ไปศึกษาในขั้นปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัย Yale ในสหรัฐอเมริกา จบ M.A. สาขาปรัชญาและอาเซียนอาคเนย์ศึกษา แล้วกลับมาเมืองไทยใน พ.ศ. ๒๕๐๔ อันเป็นระยะเวลาที่มหาจุฬาฯ กำลังฝ่ามรสุม เพิ่งผ่านจุดที่อาจจะถือว่าวิกฤต กำลังพยายามปรับสภาพและตั้งตัวให้ก้าวต่อไปได้ พระกวีวรญาณ นอกจากเป็นอาจารย์บรรยายแล้ว ก็กลับเข้ามาช่วยบิรหารมหาจุฬาฯ ต่ออีก
ดังได้เล่าแล้วว่า ใน พ.ศ. ๒๕๐๓ สั่งการเลขาธิการ ซึ่งเป็นหัวหน้าในทางปฏิบัติ ของงานบริหารมหาจุฬาฯ ได้แก่ พระมหามนัส จิตฺตทโม (ดำรงตำแหน่งต่อจากพระกวีวรญาณ ที่ไปดูการพระศาสนาในต่างประเทศแล้วไปศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกา) ได้ถูกกล่าวหาในคดีคอมมิวนิสต์ และถูกนำไปคุมขัง ณ ที่กองบัญชาการตำรวจสันติบาล
พระมหามนัส จิตฺตทโม เป็นเปรียญธรรม ๖ ประโยค วัดมหาธาตุ เรียนมหาจุฬาฯ ยังไม่ทันจบ พอสอบได้ชั้นพุทธศาสตร์ ปีที่๒ ในปี ๒๔๙๕ แล้ว ปีต่อมา องค์สภานายก (พระพิมลธรรม, อาจ อาสโภ) ได้พาไปฝากเข้าศึกษาต่อที่สถาบันบาลีนวนาลันทามหาวิหาร มหาวิทยาลัยพิหาร รัฐพิหาร ในประเทศอินเดีย หลังจบปริญญาโท เป็น M.A. (Bihar) กลับมาอยู่เมืองไทย ได้ถูกสั่งดำเนินคดีในข้อหาที่ว่านั้น เช่นเดียวกับพระภิกษุอื่น อีก ๓ รูป ที่ศึกษาจบจากนวนาลันที่เดียวกัน คือ พร้อมกับพระมหานคร ตามด้วยพระมหาสังเวียร ส่วนพระมหาโอภาสหนีไปอยู่ในประเทศจีน
หลังเหตุการณ์นั้น พระมหาสนั่น กมโล ซึ่งศึกษาจบเป็นพุทธศาสตรบัณฑิต รุ่นแรกรูปหนึ่ง แล้วไปศึกษาต่อในประเทศอินเดีย จบปริญญาโท เป็น M.A. ในสาขาปรัชญา เมื่อปี ๒๕๐๒ จากมหาวิทยาลัยวิศวภารตี ได้มาเป็นสั่งการเลขาธิการ บริหารงานต่อมา แต่เมื่อเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระเมธีวรคณาจารย์ ตอนสิ้นปี ๒๕๐๕ และเป็นเลขาธิการในปี ๒๕๐๖ พอขึ้นปี ๒๕๐๗ ท่านก็ได้ลาออกจากตำแหน่ง ....(โปรดติดตามตอนต่อไป)...
โดย: สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ
ที่มา: หนังสือมหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม: พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พิมพ์ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ๙ มีนาคม ๒๕๕๗