689 จำนวนผู้เข้าชม |
มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม (๕)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
(คำปรารภ)
เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาจุฬาลกรณวิทยาลัย ในพระบรมราชปถัมภ์ ที่ปัจจุบันเรียกชื่อตามกฎหมายว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬางกรณราชวิทยาลัย ในช่วง ๒๕๐๗ – ๒๕๒๑ รวมเวลา ๑๕ ปี ตั้งแต่ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชวิสุทธิเมธี พระเทพคุณาภรณ์ พระธรรมคุณาภรณ์ และพระพรหมคุณาภรณ์ โดยลำดับ นับว่าเป็นเลขาธิการองค์จริงจังในกิจการอย่างยาวนานที่สุด ของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้
ในสมัยนี้ เลขาธิการเป็นตำแหน่งของผู้เป็นหัวหน้าที่ทำงานจริง ในการดำเนินของมหาวิทยาลัยทั้งหลาย มิใช่เพียงตำแหน่งเกียรติยศ ดังมีคำอธิบายในหนังสือนี้แล้ว ในฐานะเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของมหาจุฬาฯ มิใช่ท่านจะต้องทำงานไปทุกอย่าง แต่กิจการทั้งปวงในระยะเวลานั้นทั้งหมด ดำเนินไปในความควบคุมดูแลและความเห็นชอบของท่าน โดยเฉพาะในยุคสมัยนั้น มีการทำงานที่เป็นระบบแห่งความร่วมแรงร่วมใจ โดยเป็นไปในสามัคคีสมานฉันท์ จึงพูดง่ายๆ รวมๆ ว่าเป็นกิจการของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในยุคที่เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เป็นเลขาธิการ
ในหนังสือนี้ ได้เล่าเรื่องราวความเป็นไปในกิจการของมหาจุฬาฯ ในช่วงเวลา ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๑๗) เมื่อผู้เล่าสนองงานในฐานะผู้ช่วยของท่าน คือเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ การเขียนเล่าเรื่องราว และทำหนังสือนี้ขึ้น ขอถือเป็นการร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในวาระสำคัญยิ่ง แห่งงานพระราชทานเพลิงศพ อนึ่ง การเขียนสะกดคำบางอย่าง อาจต่างไปจากที่ใช้กันมาบ้าง ในเมื่อเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสม เช่น แทนที่จะเขียน “วรสารเถร” ก็เขียนเป็น “วรสารเถระ”
ขอกุศลในการนี้ จงเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามของพุทธบริษัท ในไตรสิกขา และในไตรพิธบุญกิริยา เพื่อความแผ่ไพศาลแห่งพระพุทธศาสนา และเพื่อความไพบูย์แห่งประโยชน์สุขของปวงประชา อันเป็นจุดหมายในการบำเพ็ญศาสนกิจทั้งปวงของเจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ ยั่งยืนนานสืบไป
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕
ไทยล่าคอมมิวนิสต์
เมืองไทยปราบคอมมิวนิสต์
เรื่องที่เล่าข้างต้นว่า ตำรวจสันติบาลมาจับพระมหามนัส จิตฺตทโม สั่งการเลขาธิการมหาจุฬาฯ ไปคุมขังไว้ที่กองบังคับการสันติบาล โดยอ้างข้อกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และเพราะจะถูกคุมขังจึงทรงเพศภิกษุไม่ได้นั้น ผู้ที่ได้ฟังคำเล่าว่า คงจะสงสัยว่า มีเรื่องราวเป็นมาเป็นไปอย่างไร ทำไมเขาจึงตั้งข้อกล่าวหาขึ้นมาอย่างนั้น
เรื่องนี้ พูดในแง่หนึ่งว่า เป็นการมาบรรจบกันของกระแสใหม่ของเหตุการณ์บ้านเมือง กับกิจกรรมในงานฉลองพุทธกาล ที่ท่านสังการเลขาธิการได้ไปร่วม ดังที่รู้กันอยู่ ลัทธิคอมมิวนิสต์เกิดขึ้นมานานแล้ว และได้มีความสำคัญเป็นจริงเป็นจังเมื่อเกิดพรรคคอมิวนิสต์ขึ้นในรัสเซียเมื่อปี 1918/๒๔๖๑ ครั้นคอมมิวนิสต์ได้ปกครองรัสเซีย และแผ่ขยายอำนาจออกไป ลัทธินี้ก็ยิ่งมีอิทธิพล แม้แต่ทางตะวันออก ในเอเชีย จีนก็มีพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Chinese Communist Party หรือ CCP) ขึ้นตั้งแต่ปี1921/๒๔๖๔ และคล้ายกับในรับเซีย ก็เกิดมีกองทัพแดง (Red Army) ในปี 1927/๒๔๗๐
(สัญลักษณ์พรรคคอมมิวนิสต์จีน:CCP)
ในประเทศไทย ได้มีความพยายามป้องกันลัทธิคอมิวนิสต์มาเป็นระยะๆ ดังได้มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ขึ้นเป็นฉบับแรก คือ “พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. ๒๔๗๖” ซึ่งถูกยกเลิกไปในปี ๒๔๘๙ แต่ต่อมา ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม การเอาจริงเอาจังกับการป้องกันคอมมิวนิสต์ได้ฟื้นขึ้นมาอย่างแรง ถึงกับได้ตรา “พระราชบัญญติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. ๒๔๙๕” ขอยกบทบัญญัติบางมาตราของกฎหมายนี้ มาให้ดูเป็นความรู้ และเป็นที่สังเกต เช่นในแง่ว่าพระมหามนัส ถูกสั่งจับตามความในกฎหมายนี้หรือไม (ผู้เล่าเองก็ไม่ได้รู้ชัด)
มาตรา ๘ ผู้ใดเข้าร่วมประชุมในองค์การอันเป็นคอมมิวนิสต์ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสมาชิกขององค์การนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนเข้าร่วมประชุมโดยไม่รู้ถึงลักษณะความมุ่งหมายในการประชุมนั้น
มาตรา ๙ ผู้ใดกระทำการอุดหนุนแก่องค์การหรือสมาชิกขององค์การอันเป็นคอมมิวนิสต์ด้วยประการหนึ่งประการใด ดังต่อไปนี้
(๑) ให้ที่พัก ที่อาศัย หรือที่ประชุม
(๒) ชักชวนบุคคลอื่นให้เป็นสมาชิกหรือพรรคพวก
(๓) ชักชวนบุคคลอื่นให้เกิดความเสื่อมศรัทธาต่อศาสนา หรือให้กระทำการใดๆ อันเป็นการทำลายขนบประเพณีของชนชาติไทย หรือชักชวนบุคคลอื่นให้เกิดความเลื่อมใส ในลัทธิที่มีหลักการหรือการปฏิบัติเป็นการทำให้บุคคลเสื่อมศรัทธาต่อศาสนาหรือขนบประเพณีของชนชาติไทย
(๔) ให้การสนับสนุนทางการเงิน อาหาร อาวุธ เครื่องมือ หรือเครื่องใช้ หรือการสนับสนุนด้วยประการใดๆ เช่น การเปิดเผยความลับของทางราชการหรือส่งมอบเอกสารเกี่ยวกับนโยบาย แผนการดำเนินงานหรือข่าวสารอันมิพึงเปิดเผยต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปจนถึงสิบปี
กฎหมายนี้ แม้จะออกมาในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่เข้าใจว่าคงจะได้ใช้มากในสมัยปฏฺวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา (รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในระยะหลัง กลับมีท่าทีจะเปลี่ยนแปลงนโยบาย หันไปเตรียมปิดความสัมพันธ์จีน)
เท่าที่ความทราบ และพอจะทราบได้โดยไม่ได้ต้องใช้เวลาค้นหามาก ใน พ.ศ.๒๕๐๐ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองรัฐบาล ที่มี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน และได้เชิญนายพจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากการเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว นายพจน์ สารสิน ก็ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๐๐
จากนั้น ในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๑ จอมพลถนอม กิตติขจร (ยังเป็น พล.ท.ถนอม) ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ ๑๐ ตามเสียงของสภาผู้แทนราษฎร แล้วในปี ๒๕๐๑ นั้นเอง ณ วันที่ ๒๐ ตุลาคม ก็ร่วมกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาลตัวเอง แล้วจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้ารัฐบาลคณะปฏิวัติ
ครั้นถึงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๐๒ มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๐๒ ซึ่งร่างโดยสภานิติบัญญัติ (๒๐ มาตรา) อันมีมาตรา ๑๗ ที่เด่นดัง และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนถึงอสัญกรรมในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ ดังเคยกล่าวแล้ว
อาศัยมาตรา ๑๗ นั้น ได้มีการประหารชีวิตบุคคลในข้อหาร้ายแรงต่างๆ รวมทั้งกรณีสงสัยว่าจะก่อความไม่สงบหรือข้อหาคอมมิวนิสต์ เป็นแรงกดดันให้มีคนหนีเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.; ตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๕) ต่อสู้กับรัฐบาลยึอเยื้อมาจนหลังสิ้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้ว ได้รุนแรงขึ้นจนเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “วันเสียงปืนแตก” ที่จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ ๗ หรือ ๘ สิงหาคม ๒๕๐๘
(การปะทะครั้งแรก ระหว่างทหารกับคอมมิวนิสต์)
พ.ศ. ๒๕๐๑ คอมิวนิสต์ใกล้ถึงมหาจุฬาฯ
ในส่วนที่กระทบมาถึงมหาจุฬาฯ พอจะเล่าได้บ้างพอให้เห็นถึงลำดับเหตุการณ์ที่จะเชื่อมโยงเป็นภาพกว้าง หรือพอให้จับเรื่องเข้าในระบบความสัมพันธ์ได้คร่าวๆ เรื่องราวก็ตั้งต้นจากรัฐบาลคณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใน พ.ศ. ๒๕๐๑ ดังว่าแล้ว จนมากระทบมหาจุฬาฯ เต็มที่ใน พ.ศ. ๒๕๐๓ ขอทำความเข้าใจไว้ก่อนว่า ใน พ.ศ. ๒๕๐๓ นั้น ผู้เล่านี้ยังเป็นสามเณร เรียนอยู่ในคณะพุทธศาสตร์ ชั้นปีที่ ๓ ไม่ว่าโดยวัย โดยสถานะ หรือโดยโอกาส ได้ผ่านเหตุการณ์นั้นมาโดยไม่ได้รู้เรื่องราวละเอียดลึกซึ้ง และก็มิได้ใส่ใจติดตามสืบเสาะอะไร
ความสนใจนั้นมีอยู่ แต่ไม่ได้ใส่ใจจริง เวลานั้น ใจมุ่งอยู่กับการเล่าเรียน แล้วก็เลยต้องใช้เวลาหมดไปกับการค้นคว้าหาความรู้ในเรื่องที่เรียน พร้อมกันนั้น โดยเป็นไปเอง โอกาสก็ไม่ค่อยมี เพราะท่านผู้เรียนร่วมชั้นหรือร่วมคณะทั้งหมดก็ตาม ในเมื่อท่านเป็นพระภิกษุ ท่านก็คุยหรือวิพากษ์วิจารณ์เรื่องอย่างนี้กัน ในวงพระผู้ร่วมรุ่นร่วมสมัย ไม่นึกที่จะมาหาสามเณรหรือเอาสามเณรเข้าร่วมวงเพื่อคุยเรื่องอย่างนี้ ส่วนตนเอง เมื่อเป็นสามเณร ก็ชอบที่จะพูดคุยกับพระร่วมชั้นที่ใกล้ชิดซึ่งคุ้นเคยหรือสนิทกันแ ๔-๕ ท่าน
ในการเล่าเรื่องนี้ เรื่องแทรก เรื่องแซง เรื่องแฝง เรื่องพ่วง ก็ได้ยินบ้าง แต่ดังที่ว่านั้น รู้ไม่ลึกไม่ชัด จึงพูดแต่รายการที่ถูกยกขึ้นมาอ้างเป็นเหตุให้เกิดผลเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม และการที่เล่าเรื่องไว้ ก็มุ่งเพื่อเป็นความรู้ ที่จะช่วยให้มองอะไรๆ ด้วยสายตาที่เห็นสว่าง มีความรู้เข้าใจพอสมควร (ผู้เล่า แค่บอกให้รู้ จะคิดเห็นอย่างไร ไม่ยุ่งด้วย)
ใน พ.ศ. ๒๕๐๑ มีบันทึกส่วนตัวของผู้เล่าเองจดไว้ (คงจดตามข่าววิทยุ) ว่า “20 ต.ค. ถนอมลาออกจานายกฯ 15 สฤษดิ์ปฏิวัติ 21 น. ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 75 แก้ไข 95. ยุบสภา. อัยการศึก. ห้ามกักตุนสินค้าขึ้นราคา. ปลัดกระทรวงทำหน้าที่ ร.ม.ต. ปราบ น.ส.พ. ปากเสียงต่างชาติ และคอมฯเด็ดขาด. นายสังข์ พัธโนทัย, สงวน ตุลารักษ์, อุทธรณ์, สุวิทย์, เป็นต้น ถูกจับ (วันที่ 21 ได้ราว 40 คน)”
(อาจารย์กรุณา กุศลาศัย)
(อาจารย์กรุณา กุศลาศัย:ติดคุกข้อหาคอมมิวนิสต์)
ใกล้กัน ต่อจากนั้น ก็มีบันทึกจดไว้อีกว่า “อาจารย์กรุณาถูกจัดในคดีคอมฯ จึงต้องหยุดสอนไปอีก หลักจากเริ่มการสอนมาไม่นานนัก” อาจารย์กรุณา กุศลาศัย เมื่อครั้งเมืองไทยเพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองผ่านมา ๑ ปี ถึง พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้บรรพชาเป็นสามเณร และเข้าร่วมขบวนใหญ่ของภิกษุสามเณณที่เดินเท้าเปล่าติดตามพระโลกนาถ ภิกษุชาวอิตาเลียน ไปยังประเทศอินเดีย
(เรื่องพระโลกนาถนี้เป็นเหตุการณ์ใหญ่มาก ครั้งนั้น ท่านปัญญานันทะก็เป็นสามเณรรูปหนึ่ง ที่ร่วมขวบวนไปด้วย แต่ท่านพุทธทาสไม่ไป และได้เขียนชี้แจงเหตุผลของท่านในการที่มิได้ไปร่วมนั้น ในชื่อหัวข้อว่า “ทำไมไม่ไปกับพระโลกนาถ” ลงในหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ฉบับวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๔๗๖)
อาจารย์กรุณาไปถึงอินเดีย ได้ศึกษาเล่าเรียนผจญทุกข์ผจญภัย รวมทั้งเรียนที่มหาวิทยาลัยวิศวภารตี ศานตินิเกตัน และถูกจับเป็นเชลยศึกในสงครามโลกครั้งที่ ๒ (เวลานั้น อินเดียยังเป็นของอังกฤษในฝ่ายสัมพันธมิตร จึงจับคนไทยซึ่งเวลานั้นเป็นชาติที่เข้ากับญี่ปุ่นฝ่ายศัตรู?) เมื่อต้องถูกขังที่ค่ายกักกัน ก็เลยลาสิกขา ครั้นสงครามจบแล้ว จึงกลับมาเมืองไทย และในฐานะที่ได้ศึกษาภาษาฮินดี ภาษาสันสกฤต และภาษาอังกฤษ มาอย่างดี และเชี่ยวชาญทางภารตวิทยา ก็ได้ทำงานด้านนี้ ซึ่งโดยมากเป็นงานสอน
ต่อมา อาจารย์กรุณาได้เป็นผู้แทนของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลยสงคราม ไปเปิดความสัมพันธ์กับประเทศจีน และหลังจากนั้น ก็เดินทางไปเมืองจีนอีกบ้าง แล้วก็ถูกรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จับด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เช่นเดียวกับคนอื่นๆ อีกมากหลาย โดยขังไว้ที่เรือนจำลาดยาว เป็นเวลา ๙ ปี ในที่สุดได้รับการถอนฟ้อง เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๑๒
กลุ่มเพื่อนฝูงที่มีแนวคิดเดียวกันในเรือนจำการเมืองลาดยาว ในภาพจากซ้ายไปขวา สังข์ พัธโนทัย อุทธรณ์ พลกุล อิศรา อมันตกุล สุวิทย์ เผดิมชิต กรุณา กุศลาสัย และอารี ภิรมย์)
โดย: สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ
ที่มา: หนังสือมหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม: พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พิมพ์ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ๙ มีนาคม ๒๕๕๗
ขอบคุณภาพ: manager,wikipedia