ไทยพบพม่า

548 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ไทยพบพม่า : อู ธรรมโลกา, พุทธศาสนาเถรวาท กับพระฝรั่งรูปแรกของพม่า : โดย ลลิตา หาญวงษ์

อู ธรรมโลกา พระฝรั่งรูปแรกของพม่า
ตลอดยุคอาณานิคม ชาวตะวันตกจำนวนมากเดินทางหลายพันไมล์เพื่อหาโอกาสทางเศรษฐกิจ ทำการค้า และอ้างสิทธิอันชอบธรรมของคนขาวเหนือดินแดนทั่วทั้งเอเชียและแอฟริกา มิชชันนารีคือกลุ่มคนสำคัญที่เข้าไปในอาณานิคมเพื่อเผยแผ่ศาสนาคริสต์และตอกย้ำให้เห็นความมีอารยธรรมตะวันตกเหนืออารยธรรมตะวันออก แต่ก็มีชาวตะวันตกบางคนที่ “อิน” กับวัฒนธรรมแบบตะวันออก ทำให้พวกเขารู้สึกแปลกแยกจากวัฒนธรรมที่ยึดยุโรปเป็นศูนย์กลาง ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เริ่มมีชาวตะวันตกหันมาให้ความสนใจศึกษาพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทมากขึ้น น่าสนใจที่คนกลุ่มนี้มักมีพื้นเพมาจากชนชั้นกรรมาชีพ เป็นกลุ่มคนที่ถูกสังคมในยุโรปกดขี่ และแน่นอนว่ามีอภิสิทธิ์น้อยที่สุดในสังคม ชาวตะวันตกบางคนสนใจพุทธศาสนาและบวชเพื่อศึกษาพุทธศาสนาอย่างถ่องแท้ และที่น่าสนใจคือมีชาวตะวันตกอีกจำพวกหนึ่งที่บวชเป็นพระที่พม่า รู้สึกเห็นอกเห็นใจชาวพม่า และลุกขึ้นมาต่อต้านระบอบอาณานิคมเคียงข้างชาวพม่า

ในบรรดาภิกษุชาวตะวันตกที่มีบทบาทในพม่า คงต้องกล่าวถึงชื่อของ อู ธรรมโลกา (U Dhammaloka) เป็นชื่อแรกๆ ไม่มีใครทราบประวัติที่แท้จริงของอู ธรรมโลกา ก่อนท่านบวช ทราบเพียงว่าท่านเป็นชาวไอริช และอาจจะมีชื่อจริงว่า ลอเรนซ์ แคร์รอล หรือไม่ก็ ลอเรนซ์ โอรอร์ค ท่านเกิดและเติบโตในครอบครัวชนชั้นกรรมาชีพที่ดับลิน เคยเป็นชาวคริสต์คาทอลิกและตัดสินใจเป็นผู้ที่ไม่นับถือศาสนาใดๆ ในเวลาต่อมา ก่อนที่ท่านจะเดินทางถึงพม่า เคยเป็นคนเร่ร่อนและเป็นกะลาสีเรือมาก่อน อาชีพหลังสุดนี้ทำให้ท่านได้เดินทางไปทั่วทั้งเอเชียและอเมริกาเหนือ เมื่อเดินทางถึงพม่า ท่านเริ่มทำงานที่บริษัทตัดไม้แห่งหนึ่ง ต่อมามีโอกาสได้เรียนรู้พุทธศาสนา และรู้สึกศรัทธา จึงตัดสินใจไปอาศัยอยู่ในวัดที่ย่างกุ้ง เริ่มศึกษาพระธรรมอย่างจริงจังและเข้าพิธีอุปสมบทเมื่ออายุได้ 44 ปี อู ธรรมโลกา เป็นที่รู้จักทั่วไปในฐานะพระนักเทศน์ชื่อดังที่เดินทางไปทั่วพม่า อีกหลายประเทศในเอเชีย และออสเตรเลีย ท่านตั้งโรงเรียนขึ้นทั้งในสิงคโปร์และกรุงเทพฯ เพื่อส่งเสริมธรรมะและความหลากหลายทางเชื้อชาติ และก่อตั้งสมาคมพุทธชื่อ Buddhist Tract Society ขึ้นในพม่า มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลิตหนังสือธรรมะและเผยแพร่หลักธรรมพุทธศาสนา และท้าทายบทบาทของมิชชันนารีตะวันตกที่เข้าไปเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในพม่า

ชื่อเสียงของอู ธรรมโลกา เริ่มเป็นที่ปรากฏในสื่อพม่าในปี 1901 (พ.ศ.2444) เมื่อท่านประกาศห้ามมิให้มิชชันนารีตะวันตกแจกจ่ายใบปลิวเพื่อเผยแผ่ศาสนาคริสต์ และเป็นผู้แถลงคำประกาศให้ชาวพุทธพม่า
ระมัดระวังมิชชันนารีเพราะเป็นภัยคุกคามต่อพุทธศาสนาและอัตลักษณ์ชาวพุทธในพม่า นอกจากนี้ อู ธรรมโลกา ยังเป็นพระรูปแรกๆ ที่ทำให้รองเท้ากลายเป็นประเด็นทางการเมือง-ศาสนา และจุดกระแสชาตินิยมให้ลุกโชติช่วงในทศวรรษต่อมา ท่านกล่าวโจมตีตำรวจอินเดียที่ใส่รองเท้าบู๊ตเข้าไปในบริเวณพระเจดีย์ โดยตั้งคำถามว่าเหตุใดตำรวจอินเดียเหล่านี้เดินเท้าเปล่าเข้าเขตวัดฮินดูได้ แต่ไม่ยอมถอดรองเท้าเมื่อเข้าไปในเขตพุทธสถาน ชื่อเสียงของอู ธรรมโลกา ยังมาจากการที่ท่านมักวิพากษ์วิจารณ์มิชชันนารีชาวตะวันตก วัฒนธรรมตะวันตก และระบอบอาณานิคมโดยรวม ซึ่งท่านเปรียบเทียบโดยใช้สัญลักษณ์ 3 อย่าง ได้แก่ คัมภีร์ไบเบิล, ขวดบรั่นดี และปืนแก็ตลิงหรือมีด ตามลำดับ) อู ธรรมโลกาเอง มองว่าการเข้ามาของมิชชันนารีตะวันตกเข้าไปเซาะกร่อนหลักธรรมคำสั่งสอนในศาสนาพุทธ มองว่ามิชชันนารีพยายามให้ชาวพม่าที่นับถือ “ศาสนาอันประเสริฐ” อย่างพุทธศาสนาอยู่แล้วเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่น คริสต์ศาสนาจึงเป็นภัยที่ชาวพม่าต้องระมัดระวังและกีดกันมิชชันนารีออกไป การท้าทายอำนาจของรัฐบาลอาณานิคม และคริสต์ศาสนาทำให้อู ธรรมโลกา ถูกทางการอังกฤษเพ่งเล็ง และถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ

แต่ก็ทำให้ท่านเป็นที่รู้จักทั่วพม่า การดำเนินคดีกับอู ธรรมโลกา จึงอยู่ในความสนใจของชาวพม่า และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยจุดกระแสต่อต้านระบอบอาณานิคมให้เกิดขึ้น

สารคดี The Dharma Bum กำกับโดย เอียน ลอว์ตัน (2016)
เมื่ออู ธรรมโลกา เปรียบเทียบความชั่วร้ายของระบอบอาณานิคมเข้ากับบรั่นดี ท่านต้องการจะสื่อว่าวัฒนธรรมแบบตะวันตกชอนไชเข้าไปทำลายวัฒนธรรมอันดีของชาวพม่า แอลกอฮอล์ทำให้คนขาดสติยั้งคิดและเป็นค่านิยมที่ชั่วร้ายแบบตะวันตก ด้านปืนหรือมีดหมายถึงการใช้ความรุนแรงของระบอบอาณานิคมในพม่า อู ธรรมโลกา ย้อนกลับไปในสงครามครั้งสุดท้ายระหว่างอังกฤษกับพม่าในปี 1885 (พ.ศ.2428) เมื่ออังกฤษใช้มาตรการขั้นรุนแรงปราบปรามกบฏที่ต่อต้านระบอบอาณานิคม และใช้เวลากว่า 10 ปี ระหว่าง 1885-1895 (พ.ศ.2428-2438) ในกระบวนการ “ทำให้พม่าสงบ” (Pacification of Burma) ในการนี้ อังกฤษระดมทัพที่เป็นทหารซีปอยจากอินเดียจำนวนมากเข้าไปปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ อู ธรรมโลกา ชี้ให้เห็นว่าความรุนแรงนี้แสดงให้เห็นการขาดความชอบธรรมของอังกฤษ ชาวพุทธพม่าจึงควรรวมตัวกันเพื่อต่อต้านระบอบอาณานิคมที่ฉ้อฉลนี้โดยใช้ธรรมะ และใช้อัตลักษณ์ของตนเพื่อร่วมกันต่อสู้กับอังกฤษและเศรษฐกิจแบบอาณานิคมที่จ้องจะดูดทรัพยากรของชาวพม่าไปจนสิ้น พุทธศาสนามิได้สร้างเฉพาะอัตลักษณ์ร่วมสำหรับชาวพม่าเท่านั้น แต่ชาวพุทธในพม่าควรสร้างเครือข่ายระหว่างชาวพุทธเถรวาทในประเทศรอบข้าง ได้แก่ ศรีลังกา และไทย รวมทั้งประเทศอื่นๆ ที่มีชุมชนพุทธที่เข้มแข็ง เช่น สิงคโปร์และมาเลเซีย เพื่อร่วมกันปกป้องพุทธศาสนา สอนธรรมะซึ่งพุธมามกะสามารถนำไปใช้ได้จริง

แนวคิดต่อต้านมิชชันนารีและระบอบอาณานิคมของอู ธรรมโลกา อาจมาจากพื้นฐานของท่านมาจากไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีประวัติการต่อสู้เพื่อปลดแอกตนจากระบอบจักรวรรดินิยมมาอย่างโชกโชนเช่นเดียวกับอาณานิคมทั้งหลายในเอเชีย ชีวิตของอู ธรรมโลกา เต็มไปด้วยปริศนา เริ่มตั้งแต่ชื่อจริงของท่านที่ไม่มีใครทราบแน่ชัด และก็ไม่มีบันทึกเกี่ยวกับชีวิตในช่วงที่ท่านรอนแรมในเรือข้ามทวีประหว่างยุโรปกับอเมริกาเช่นเดียวกัน เราทราบเรื่องราวในชีวิตของท่านเมื่อท่านอุปสมบทแล้ว เมื่อท่านกลายเป็นพระฝรั่งแถวหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์ระบอบอาณานิคมอย่างออกรส ก่อนที่จะมีการจัดตั้งขบวนการชาตินิยมที่ชูศาสนาเป็นแก่นเรื่องหลักขึ้นในพม่า (สมาคม YMBA หรือสมาคมชาวพุทธหนุ่ม ถือกำเนิดขึ้นในปี 1906/พ.ศ.2449) แต่ก็ไม่มีใครทราบว่าท่านมรณภาพที่ใดและในปีใดเช่นเดียวกัน กลุ่มนักวิชาการที่รวบรวมข้อมูลของอู ธรรมโลกา (ดูเว็บไซต์ https://dhammalokaproject.wordpress.com) วิเคราะห์ว่าอู ธรรมโลกา เริ่มหายตัวไปในปี 1913 และอาจจะมรณภาพที่ไทยหรือกัมพูชา เพราะไม่ปรากฏข่าวเกี่ยวกับท่านอีกในหนังสือพิมพ์พม่า ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ท่านเดินสายเทศนาธรรมและต่อต้านอังกฤษ และเป็นข่าวในสื่อของพม่าอยู่เป็นประจำ

ชีวิตของอู ธรรมโลกา เป็นตัวอย่างของการปะทะสังสรรค์กันระหว่างวัฒนธรรมแบบตะวันตกกับตะวันออกตลอดยุคอาณานิคม ที่ผ่านมาเรามักเข้าใจอาณานิคมในพม่าว่าเจ้าอาณานิคม หรือ “ฝรั่ง” เป็นผู้มอบวัฒนธรรมที่ “ดีงาม” ให้กับคนพื้นเมืองในเอเชีย แต่การเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาของอู ธรรมโลกา ชี้ให้เห็นว่าในเวลาเดียวกันก็มีชาวตะวันตกที่ไม่ได้มองว่าวัฒนธรรมแบบยุโรปเป็นวัฒนธรรมที่ศิวิไลซ์เพียงอย่างเดียว แต่กลับเต็มไปด้วยการกดขี่และความรุนแรง อู ธรรมโลกา ไม่ได้เป็นเพียงพระฝรั่งธรรมดาสามัญทั่วไป แต่ท่านยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับสมาคมพุทธยุคแรกๆ ของพม่า และสมาคมชาตินิยมในเวลาต่อมาที่ใช้ศาสนาเป็นตัวชูโรงเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้กับชาวพม่า

ลลิตา หาญวงษ์
L.hingkanonta@gmail.com

ข่าวต้นฉบับ: http://www.matichon.co.th/news/527427

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้