755 จำนวนผู้เข้าชม |
มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม (๔)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
(คำปรารภ)
เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาจุฬาลกรณวิทยาลัย ในพระบรมราชปถัมภ์ ที่ปัจจุบันเรียกชื่อตามกฎหมายว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬางกรณราชวิทยาลัย ในช่วง ๒๕๐๗ – ๒๕๒๑ รวมเวลา ๑๕ ปี ตั้งแต่ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชวิสุทธิเมธี พระเทพคุณาภรณ์ พระธรรมคุณาภรณ์ และพระพรหมคุณาภรณ์ โดยลำดับ นับว่าเป็นเลขาธิการองค์จริงจังในกิจการอย่างยาวนานที่สุด ของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้
ในสมัยนี้ เลขาธิการเป็นตำแหน่งของผู้เป็นหัวหน้าที่ทำงานจริง ในการดำเนินของมหาวิทยาลัยทั้งหลาย มิใช่เพียงตำแหน่งเกียรติยศ ดังมีคำอธิบายในหนังสือนี้แล้ว
ในฐานะเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบการดำเนินงานของมหาจุฬาฯ มิใช่ท่านจะต้องทำงานไปทุกอย่าง แต่กิจการทั้งปวงในระยะเวลานั้นทั้งหมด ดำเนินไปในความควบคุมดูแลและความเห็นชอบของท่าน โดยเฉพาะในยุคสมัยนั้น มีการทำงานที่เป็นระบบแห่งความร่วมแรงร่วมใจ โดยเป็นไปในสามัคคีสมานฉันท์ จึงพูดง่ายๆ รวมๆ ว่าเป็นกิจการของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในยุคที่เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เป็นเลขาธิการ
ในหนังสือนี้ ได้เล่าเรื่องราวความเป็นไปในกิจการของมหาจุฬาฯ ในช่วงเวลา ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๑๗) เมื่อผู้เล่าสนองงานในฐานะผู้ช่วยของท่าน คือเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ การเขียนเล่าเรื่องราว และทำหนังสือนี้ขึ้น ขอถือเป็นการร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในวาระสำคัญยิ่ง แห่งงานพระราชทานเพลิงศพ
อนึ่ง การเขียนสะกดคำบางอย่าง อาจต่างไปจากที่ใช้กันมาบ้าง ในเมื่อเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสม เช่น แทนที่จะเขียน “วรสารเถร” ก็เขียนเป็น “วรสารเถระ”
ขอกุศลในการนี้ จงเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามของพุทธบริษัท ในไตรสิกขา และในไตรพิธบุญกิริยา เพื่อความแผ่ไพศาลแห่งพระพุทธศาสนา และเพื่อความไพบูย์แห่งประโยชน์สุขของปวงประชา อันเป็นจุดหมายในการบำเพ็ญศาสนกิจทั้งปวงของเจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ ยั่งยืนนานสืบไป
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕
อะไรๆ ก็ใหม่ๆ
ก่อนจะผ่านเหตุการณ์นำเรื่องนี้ไป ควรจะบอไว้ให้เป็นที่สังเกตว่า เมื่อสมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถระ วัดสระเกศ เสด็จมาในงานวันอนุสรณ์มหาจุฬาฯ ปี ๒๕๐๖ นั้น พูดได้ว่าเป็นช่วงเวลาช่วงต่อสำคัญคราวหนึ่ง งานวันนั้นจึงอยู่ในยุคที่มีอะไรใหม่ๆ หลายอย่าง
เริ่มแต่สมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถระ ก็เป็นพระองค์ใหม่ เพิ่งทรงได้รับการสถาปนาในวันฉัตรมงคล พ.ศ. ๒๕๐๖ นี้ หลังจากสมเด็จพระสังฆราช กิตติโสภณมหาเถระ วัดเบญจมบพิตร สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕
แล้วที่สำคัญมากสำหรับการคณะสงฆ์ ก็คือ กฎหมายคณะสงฆ์ฉบับใหม่กล่าวคือ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ที่รัฐบาลสมัยปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จัดการให้ตราขึ้นมา ก็เพิ่งมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๖ เป็นต้นไป ทำให้ระบบการปกครองของคณะสงฆ์เปลี่ยนแปลงใหม่ครั้งใหญ่อีกคราวหนึ่ง และสมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถระ วัดสระเกศ ก็ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรก ในยุคของ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ฉบับใหม่
คณะสงฆ์มนตรี นำโดยสังฆนายก ก็เลิกล้มไปตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ๒๔๘๔ โดยให้สมเด็จพระสังฆราช องค์สกลมหาสังฆปรินายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ทางมหาเถรสมาคมแทนที่ ฟื้นขึ้นใหม่ซึ่งคำว่า “มหาเถรสมาคม” อันเคยใช้ในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) สมัย ร. ๕
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
จอมพลถนอม กิตติขจร
นอกจากนั้น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ที่เรียกว่าเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ ซึ่งเป็นเจ้าของวาทะว่า “สมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า” (๒๕๐๒-๒๕๐๖, หรือถ้านับตั้งแต่ท่านทำรัฐประหารต่อรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วมีอำนาจอยู่เบื้องหลังเรื่อยมา ก็ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๐) ได้ถึงอสัญกรรมในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๐๖
จากนั้น ในปี ๒๕๐๖ นั่นเอง เมืองไทยก็มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือ จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อกิจการบ้านเมืองแทบทุกอย่าง รวมทั้งการดำเนินคดีคอมมิวนิสต์
หันมาดูข้างในมหาจุฬาฯ เมื่อมีอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุองค์ใหม่ คือ พระธรรมรัตนากร (กิตติสารเถระ) มหาจุฬาฯ ก็เป็นอันว่ามีสภานายกองค์ใหม่ด้วย
แล้วเมื่อสั่งการเลขาธิการถูกนิมนต์พรากไปอยู่ที่สันติบาล โดยมีพระเถระผู้มาช่วยบริหารงานรั้งตำแหน่งไว้ ครั้นพระเถระนั้น กล่าวคือพระเมธีวรคณาจารย์ (สนั่น กมโล) ลาออกจากตำแหน่งแล้ว เจ้าประคุณอาจารย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ครั้งยังเป็นพระราชวิสุทธิเมธี ก็เข้าดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการมหาจุฬาฯ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๗ เป็นต้นมา เป็นองค์แรกที่นับได้ว่าเป็นจริงเป็นจังอยู่ยาวนาน
สุดท้าย คือตัวผู้เราเอง เวลานั้น คืนในปี ๒๕๐๖ นี้ ก็ใหม่ คือเป็นพระใหม่ เรียกตามพระวินัยว่าพระนวกะ เพิ่งอุปสมบท คือบวชเป็นพระภิกษุได้ ๒ พรรษา พึ่งจบมหาจุฬาฯ แล้วทำงานสอนมาได้ ๑ ปี ยังไม่ได้อยู่ในวงงานบริหารของมหาจุฬาฯ ดังนั้น เท่าที่ได้เล่ามาแล้วนั้น จึงว่าไปตามที่ได้รู้เห็นเหตุการณ์ และเท่าที่พบหลักฐาน มิใช่จะได้รู้อะไรลึกซึ้งแต่อย่างใด
ในปีถัดมา ใกล้ถึงกลาง พ.ศ. ๒๕๐๗ ผู้เล่าคราวมีพรรษาได้ ๓ (ที่จริง อายุ ๒๕ ปีแต่ในปีที่อายุครบ ๒๐ ได้อาพาธหนักด้วยวัณโรค ไอเป็นโลหิตมากมาย มัวยุ่งรักษาตัว) ทราบความอันเป็นข่าวว่า ตนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเลขาธิการมหาจุฬาฯ เป็นอันถึงเวลาที่ควรจะเล่าเรื่องราวในสมัยขององค์เลขาธิการ เท่าที่ได้ช่วยทำงานให้ท่านมา
อนึ่ง ในการเล่านี้ คงต้งมีการอ้างนามของท่านบ่อยมาก ถ้าจะใช้คำเช่นว่า เจ้าประคุณสมเด็จอาจารย์ เมื่อพูดบ่อย ก็จะกลายเป็นความเยิ่นเย้อยืดยาด และเวลานั้น ท่านก็ยังไม่เป็นสมเด็จ คิดว่าจะใช้คำอะไรดี จึงจะกระชัดระทัดรัด
พอดีพบจดหมายเก่าในปี ๒๕๑๕ ที่ตนเองเดินทางตามท่านไปอเมริกา ได้เขียนจดหมายมาเล่าเรื่องราวแก่พระมหาสมบูรณ์ สมฺปุณฺโณ หัวหน้ากองกลาง ในจดหมายนั้น เมื่อเอ่ยอ้างนามท่าน ได้ใช้คำว่า “ท่านเจ้าคุณเลขาธิการ” คิดว่าเหมาะดี จึงตกลงว่าจะใช้คำนี้เป็นหลักต่อไป ....(โปรดติดตามตอนต่อไป)...
โดย: สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศ
ที่มา: หนังสือมหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม: พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พิมพ์ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ๙ มีนาคม ๒๕๕๗